กลายเป็นประเด็นร้อนแรงไป สำหรับกรณี ภาษีคริปโต ที่กรมสรรพากรออกมาประกาศอย่างชัดเจนว่าจะเริ่มเก็บภาษีจากการลงทุนตลาดคริปโตแบบจริงจัง โดยการเสียภาษีพิจารณาจากกำไรในแต่ละ Transaction นั่นหมายความว่า เมื่อไหร่ที่คุณเริ่มเทรดแล้วได้กำไร ก็จะต้องเสียภาษีให้แก่กรมสรรพากร ส่วนการคำนวณภาษีนั้นทำได้โดยการนำกำไรที่ได้จากการขายคริปโตเคอร์เรนซีมากรอกในแบบ ภ.ง.ด.90 เป็นเงินได้มาตรา 40(4) เพื่อคำนวนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั่นเอง
นักลงทุนต่างก็ได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า และเกิดการถกเถียงกันเป็นจำนวนมากในโลกออนไลน์ มีทั้งคนที่เห็นด้วยและคนที่ไม่เห็นด้วย เกิดการเปรียบเทียบเรื่องการเสียภาษีของประเทศและต่างประเทศที่มีหลายคนออกมาพูดกันว่า ต่างประเทศมีภาษีคริปโตมานานมากแล้ว และบางประเทศก็เสียเยอะกว่าประเทศไทยก็มี วันนี้เราได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวภาษีคริปโตของหลาย ๆ ประเทศมาเปรียบเทียบให้ดู
สำหรับในประเทศไทย การซื้อ ขายทำกำไร จะต้องเสียภาษีเงินได้ หักภาษี ณ ที่จ่าย 15% และหากเทรดออเดอร์ไหนได้กำไรต้องเสียภาษี แต่ถ้าหากกำไรในการเทรดของเราไม่เกิน 60,000 บาท/ปี ไม่ต้องยื่นภาษี
สิงคโปร์ บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลที่ถือครอง คริปโตหรือสินทรัพย์ดิจิทัลอื่น ๆ ที่ลงทุนระยะยาวไม่ถูกเก็บภาษีในสิงคโปร์ เพราะภาษีกำไรการลงทุนไม่มีอยู่ในมือของรัฐเอง
สวิซเซอร์แลนด์ การเทรดคริปโตในนามบุคคลไม่เสียภาษีกำไร แต่การเทรดทำกำไรในนามนิติบุคคลต้องเสียภาษี และรายได้จากการขุดคริปโตก็ถือเป็นรายได้การจ้างงานตนเองจะถูกหักภาษีเงินได้
ญี่ปุ่น มีการเรียกเก็บภาษีระหว่าง 20 – 55% และไม่สามารถหักลบยอดกำไร-ขาดทุนได้ และภาษีคริปโตนี้ยังไม่คำนวณรวมกับภาษีเงินได้บุคคลที่ 10 – 45% แต่หากกำไรการเทรดไม่เกิน 200,000 เยน/ปี ไม่เสียภาษี มากไปกว่านั้นบริษัทผู้ออกเหรียญคริปโตก็ถูกเก็บภาษี 35% อีกด้วย
เกาหลีใต้ มีการเก็บภาษีคริปโตในอัตราคงที่ 20% เมื่อมีกำไรจากการเทรดมากกว่า 2.5 ล้านวอนโดยจะเริ่มการเก็บภาษีคริปโต ในปี 2023 หรือเริ่มเก็บภายในปีหน้านั่นเอง
สหรัฐอเมริกา มีการเก็บภาษีทั้งกำไรระยะสั้นและระยะยาวโดย เก็บภาษีการขายทำกำไรระยะสั้น 10 – 37% และเก็บภาษีการขายทำกำไรระยะยาว 0 – 20% นอกจากนี้ธุรกรรมคริปโตที่มีมูลค่าเกินกว่า 10,000$ จะต้องแจ้งไปยังสรรพากรภายใน 15 วัน และที่แตกต่างจากภาษีของประเทศไทยคือ ผลกำไร-ขาดทุนจากการเทรดสามารถหักลบกันได้
นอกจากนี้สำนักข่าวประชาชาติธุรกิจยังได้นำเสนอข้อมูลเชิงลึกต่อว่า มีหลายประเทศที่ไม่มีการเรียกเก็บภาษีคริปโต เช่น โปรตุเกส เบลารุส สโลวีเนีย มอลต้า ลักเซมเบิร์ก เอสโตเนีย เป็นต้น เนื่องจากประเทศเหล่านี้ให้ความสำคัญในด้านเทคโนโลยีที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงการเงินในโลกอนาคต และยังมีอีกหลายประเทศทั่วโลกที่ยังไม่มีกฎหมายที่ชัดเจนในแง่ของสินทรัพย์ดิจิทัลหรือคริปโตเคอร์เรนซี